1.3.1 การย่อยอาหารของสัตว์ที่ไม่มีทางเดินอาหาร






ครูไวยุ์
     ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract, GI tract, alimentary canal หรือ gut) ระบบทางเดินอาหาร อาจเรียกอีกอย่างว่าระบบย่อยอาหาร(digestive tract) ระบบอวัยวะนี้มีเฉพาะในสัตว์หลายเซลล์ (multicellular animals) ที่ต้องกินอาหารและย่อยอาหาร เพื่อรับสารอาหารและพลังงานและขับถ่ายของเสียออกไป

     ระบบทางเดินอาหารของสัตว์แบ่งได้ 2 แบบ คือ

     1. ระบบทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์  (Incomplete digestive tract) ประกอบด้วยช่องเปิดเพียง 1 ช่อง คือ อาหารเข้าทางปาก และกากอาหารออกทางเดียวกัน
     2. ระบบทางเดินอาหารสมบูรณ์  (Complete digestive tract) ประกอบด้วยช่องเปิด 2 ช่องทำหน้าที่เป็นปากและทวารหนักตามลาดับ
a.b.


รูปที่ 1.1  a. Incomplete digestive tract, b. Complete digestive tract

     สัตว์บางชนิด เช่น ฟองน้ำไม่มีระบบทางเดินอาหาร แต่จะมีเซลล์พิเศษทำหน้าที่จับอาหารเข้าสู่เซลล์แล้วทำการย่อยภายในเซลล์สัตว์บางชนิดมีระบบทางเดินอาหารไม่สมบูรณ์  เช่น ไฮดรา พลานาเรีย สัตว์บางชนิด เช่น ไส้เดือนดิน แมลงและสัตว์มีกระดูกสันหลังมีระบบทางเดินอาหารสมบูรณ์ ระบบทางเดินอาหารของสัตว์เหล่านี้จะมีโครงสร้างบางอย่างแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดอาหารและพฤติกรรมการกิน

1. การย่อยอาหารของสัตว์บางชนิดที่ไม่มีกระดูกสันหลัง

     1.1 การย่อยอาหารของสัตว์บางชนิดที่ไม่มีทางเดินอาหาร

           ฟองน้ำ (Sponge) เป็นสัตว์ในไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera) ไม่มีปากและทวารหนักที่แท้จริง ทางเดินอาหารเป็นแบบร่างแห (Channel network) เป็นเพียงรูเปิดเล็กๆ รอบลำตัว เรียกว่า ออสเทีย (Ostia) ทำหน้าที่เป็นทางน้ำไหลเข้าสู่ลำตัวฟองน้ำ ซึ่งเป็นการนำอาหารเข้าสู่ลำตัว ส่วนรูเปิดด้านบนลำตัว เรียกว่า ออสคิวลัม (Osculum) ทำหน้าที่เป็นทางน้ำออก


รูปที่ 1.2  ฟองน้ำ (Spongs) Phylum Porifera

โครงสร้างภายใน

  • เป็นสัตว์ที่มีรูเล็ก ๆ ทั่วตัว มีช่องทางให้น้ำผ่านเข้าเรียกว่า ออสเทีย (Ostia) ส่วนรูใหญ่ที่อยู่ด้านบนเป็นทางให้น้ำออกเรียกว่า ออสคูลัม (Osculum)
  • ผนังลำตัวประกอบด้วยเนื้อเยื่อสองชั้นคือเนื้อเยื่อชั้นนอกเป็นเซลล์รูปร่างแบนเรียงกันคล้ายแผ่นกระเบื้อง ประกอบด้วยเซลล์เป็นปลอก มีแฟลกเจลลัมช่วยโบกพัดให้น้ำเคลื่อนผ่านลำตัว และทำหน้าที่กินสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่ปนมากับน้ำ เรียกเซลล์เหล่านี้ว่า เซลล์ปลอกคอ (Choanocyte)
  • ระหว่างเนื้อเยื่อสองชั้น จะมีชั้นกลางที่มีลักษณะคล้ายวุ้นเรียกว่าชั้นมีเซนไคม์ (Mesenchyme) ในชั้นนี้จะเซลล์ที่สามารถเคลื่อนที่และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นเซลล์อื่นได้ เรียกว่า อะมีโบไซต์ (Amoebocyte) เช่นเปลี่ยนไปเป็นสเกลอโรบลาสต์ (Scleroblast) เพื่อทำหน้าที่ขนส่งอาหารและลำเลียงของเสีย

รูปที่ 1.3 โครงสร้างภายในของฟองน้ำ


โครงสร้างภายนอก

โครงสร้างที่อยู่ในชั้นมีเซนไคม์ เรียกว่า "ขวาก" (spicule) เป็นตัวคงรูปร่างของฟองน้ำ สามารถแบ่งสารประกอบที่ใช้ในการคงรูปร่างได้เป็น 3 ชนิดคือ
  • ขวากหินปูน (Calacreous spicule) มีหินปูนเป็นองค์ประกอบ พบในฟองน้ำหินปูน
  • ขวากแก้ว (Siliceous spicule) มีซิลิกา (silica) เป็นองค์ประกอบ
  • สปอนจิน (Spongin) ไม่อยู่ในจำพวกของ "ขวาก" แต่เป็นเส้นใยที่มีองค์ประกอบเป็นสารสเกลอโรโปรตีน (Scleroprotein)

รูปที่ 1.4  ลักษณะของขวากที่อยู่ในชั้นมีเซนไคม์ สามารถบ่งบอกชนิดของฟองน้ำ

การกินอาหารและการย่อยอาหารของฟองน้ำ
     อาหารจำพวกแบคทีเรียและอินทรียสารขนาดเล็กไม่เกิน 1 ไมครอนที่ปะปนอยู่ในน้ำ จะถูกแฟลเจลลัมของคอลลาร์เซลล์จับเป็นอาหาร แล้วส่วนของไซโทพลาซึมจะรับอาหารเข้าสู่เซลล์แบบฟาโกไซโทซิส สร้างเป็น Food Vacuole แล้วอาหารจะถูกย่อยโดยเอนไซม์จากไลโซโซม 
     ส่วนอาหารขนาดใหญ่ประมาณ 5-50 ไมครอน อะมิโบไซต์ (Amoebocyte) สามารถจับแล้วสร้าง Food Vacuole และจะถูกย่อยโดยเอนไซม์จากไลโซโซมเช่นเดียวกัน


รูปที่ 1.5  การนำน้ำเข้าออก และเซลล์ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารของฟองน้ำ


วีดิโอ 1 การลำเลียงน้ำเข้าและออกของฟองน้ำ


แบบฝึกหัด

คำชี้แจง  จงพิจารณาข้อความต่อไปนี้ว่า ถูกหรือผิด  ถ้าถูกให้ทำเครื่องหมาย /  ถ้าผิดให้ทำเครื่องหมาย  x  หน้าข้อความ

....... 1. ฟองน้ำ มีระบบทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์
....... 2. porocyte เป็นทางน้ำและอาหารเข้า ซึ่งมีรอบลำตัว
....... 3. spongocoel  เปรียบเมือนช่องว่างกลางลำตัวไว้ย่อยอาหาร
....... 4. Choanocyte ใช้กระบวนการ phagocytosis
....... 5. Amoebocyte เป็น  Intracellular digestion






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น